Notes to Myself

สิ่งที่คิดที่เขียนไว้ ในช่วงปี 2014-2015


โพสนี้เก็บสิ่งที่คิดที่เขียนไว้ ในช่วงปี 2014-2015
ที่มองเห็นร่องรอยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ที่มีผลต่อการตัดสินใจในชีวิตในช่วงนั้น
เก็บบันทึกไว้ อย่างไร้รูปแบบ

Oct 11.2014
ไร้รูป
ไร้เงา
ไร้คำถาม

Oct 13, 2014
บางเวลา การลงมือสร้าง รูปธรรมของความหวัง ก็มีความจำเป็น
ว่ากันว่า ALWAYS คือหนังที่ฉายภาพ
การสร้างอนาคตของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่การมองขึ้นไปที่โตเกียวทาวเวอร์ของสังคมญี่ปุ่นในเวลานั้น
ไม่ใช่การมองไปหาความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

แต่อาจเป็นแค่การมองออกไปหาแรงใจให้มุ่งมั่นว่า
อนาคต สร้างได้

Oct 25, 2014
ตวัดความสุข
งานที่เราทำเพราะอารมณ์ความคิด
ไม่ต้องใช้ไอเดีย แต่ใช้อารมณ์
งานที่เราทำเพราะอารมณ์ความคิด
ไม่ต้องใช้ไอเดีย แต่ใช้อารมณ์
เพราะสิ่งที่เราปล่อยออกไป
ไม่ใช่แค่ผลงาน แต่ควรเป็น
เป็นความสุข เป็นความเงียบ
ไม่ใช่เสียงตะโกน
Conversation with QbicQueen

Oct 16, 2014
หัวหน้า ณ วันนี้
วันนี้มีลูกน้องที่เคารพ Line มาขอบคุณที่เราเคยเป็นลูกพี่
ด้วยคำทักทายง่ายๆ ว่า “เป็นหัวหน้าคนอื่นมันยากเนอะ”

หลังจากแชร์ความรู้สึกระหว่างลูกพี่เก่า กับลูกพี่น้องใหม่
ก็เกิดเป็นคำแนะนำ เท่าที่นึกได้ ณ วันนี้ ว่า

ในการทำงาน
เราจำเป็นต้องฝึกเป็นหัวหน้าบ้าง
แต่มันไม่ได้มีแค่ท่าบังคับในการเป็นผู้นำ
อาจจะต้องลองหาท่าที่ถนัดดู

ในการใช้ชีวิต
เราก็ตัดโหมดผู้นำออกได้บ้าง
คงสภาพความเป็นคนอ่อนหัด เอาแต่ใจ ไว้ได้
แต่อาจต้องลดการแสดงออกลง
ตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น

การทำงานไม่ว่าจะในองค์กรอิสระหรือองค์กรตอกบัตร
เราคงจะเจอโจทย์คล้ายๆ กัน คือไม่พ้นต้องบริหารคนและเวลา

ถ้ามองในแง่ดีคือ ถ้าเราบริหารใจคนหลายคนได้
เราก็จะมีกองกำลังที่ทำงานได้เยอะขึ้น เร็วขึ้น
และทำงานใหญ่ๆ ที่ท้าทายได้มากขึ้น


Oct 18, 2014
รู้ตัวเสมอว่าเป็นคนชอบชีวิตในเมือง
ชอบใช้รถไฟฟ้ามากกว่ารถยนต์
ชอบเดินผ่านแผงหนังสือที่มีแม็กกาซีนอัพเดททุกเดือน
ชอบฟังเพลงจากหูฟังระหว่างเดินทาง
ชอบสังเกตป้ายโฆษณาระหว่างทาง

แน่นอนเมื่อเรานึกถึงคำว่าไลฟ์สไตล์แบบที่แม็กกาซีนเขียนไว้
เราจะนึกถึงวิถีชีวิตที่ดูดีกว่านี้ มีร้านกาแฟเก๋ๆ ให้เดินผ่าน
มีที่ปั่นจักรยานเท่ๆ มีสวนสาธารณะสวยๆ ให้ไปนั่งชิล

แต่วันนี้…
ขณะเดินผ่านซุ้มโปรโมชั่นมือถือ
คนเบียดกันซื้อตั๋วรถใต้ดิน
ทำให้เรายูเรก้าว่าจริงๆ แล้ว
ชีวิตมันก็ใช้เวลาดำเนินไป
เพราะกิจกรรมธรรมดาแบบนี้
มากกว่าไลฟ์สไตล์ดูดี
ที่นานๆ จะได้ทำซักที

Oct 19, 2014
ช่วงนี้กำลังอินกับการอ่านหนังสือ How To ของญี่ปุ่น
เพราะรู้สึกถึงความแตกต่างจาก How To ของฝรั่ง
เลยมีข้อสังเกตว่า

How to ฝรั่ง มักบอกให้ควบคุมคนอื่น
How to ญี่ปุ่น มักบอกให้ควบคุมตัวเอง

ผมเลยเกิดคำถามว่า
How to ไทยๆ จะบอกให้เราคิดยังไง?

เท่าที่นึกออกวันนี้ รู้สึกถึงคำว่า
“ใจเขา ใจเรา” น่าจะเป็นแก่นบางอย่าง
ที่สร้าง How to แบบไทยๆ ได้

Oct 21, 2014
จงแบ่งงานแต่ไม่ใช่เพราะมันเยอะ
แต่แบ่งเพราะมันสนุกเมื่อทำด้วยกัน

ให้ทุกคนรู้ความคืบหน้างานเท่าๆ กัน
แต่ทุกคนต้องไม่ทำงานเดียวกัน

การที่หัวหน้าต้องตรวจเป็นคนสุดท้ายไม่ใช่เพราะจะแก้ไข
แต่ใช้เป็นขั้นตอนการประเมินงาน ว่ามีจุดเสี่ยงตรงไหน

อย่าทำเกินเวลา แต่ควรทำก่อนเวลา

และสุดท้าย
จงใช้พลังแห่งความไว้ใจในทีมงาน

Oct 22, 2014
งานใหญ่แค่ไหนก็เริ่มจากจุดเล็กๆ
ระหว่างเตรียมงานแถลงข่าวของบริษัท

จะมีกระบวนการซ้อมระบบด้วยการต่อ Macbook เข้ากับ Projector
แล้วภาพก็จะไปปรากฏบนเวที ซึ่งเป็นจอภาพขนาดใหญ่

การได้เห็นผลงานของน้องๆ ในทีม ที่เราช่วยกันปลุกปั้น
บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไปปรากฏเป็นงานจริงบนเวที
โดยข้างๆ Macbook ที่ใช้เปิดชิ้นงานนั้นก็มีสคริปต์ที่ปริ้นท์ลงบนกระดาษ A4

ก็เลยพบแนวคิดการสร้างงาน ที่ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน
จริงๆ แล้วมันก็เริ่มจากจุดเล็กๆ จุดที่เราควบคุมได้
ด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากกว่าไปกังวลกับไซส์ของงานที่รับผิดชอบ

อีกอย่างนึงที่ได้จากการทำงานร่วมกับทีมงานเฉพาะกิจของบริษัท
ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่าเราทำงานแค่บางส่วน แต่เต็มที่กับส่วนที่ทำ
และเห็นทีมอื่นๆ ก็ทำงานในส่วนของตัวเองเต็มที่
พอถึงวันที่ต้องประกอบทุกอย่างเป็นงานวันจริง
ทุกสิ่งจะรันไปตามความถนัดของแต่ละฝ่าย
โดยที่การทำงานจะมีแรงกดดันน้อยมาก

ทำให้ได้ความรู้ใหม่ว่า การมีทีมที่ดี ทำให้งานเดิน
โดยที่แต่ละคนแค่ใส่ความเต็มที่ในจุดที่ตัวเองทำ
งานจะโคจรรอบตัวเองอย่างลื่นไหล

Oct 25, 2014
โอบอุ้มความฝัน
ไม่ตัดสินแรงบันดาลใจ
ให้โอกาสความพยายาม
ความงามไม่ได้อยู่ที่รางวัล
เพราะทุกวันที่ออกเดิน
คือความสำเร็จ

มองไปข้างหน้า
ไม่ใช่เพราะอยากไปถึง
แต่แค่ให้รู้ว่า

ยังมีทางเดินต่อ

Oct 27, 2014
ส่งได้แค่ใจ
ความเปลี่ยนแปลง
เป็นผู้ให้กำเนิดยุคสมัย

เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน
บางสิ่งต้องเก็บรักษา
บางอย่างรอวันรื้อถอน

คนรุ่นเก่าพึ่งพาความหวัง
คนรุ่นใหม่มองหาความฝัน
ส่งต่อกันได้เพียงแค่หัวใจ

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น
ความเปลี่ยนแปลง
ก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

Oct 31, 2014
ความดีมักหลบมุม
วันนี้ระหว่างไปทำงาน
เห็นแรงงานวัยรุ่นพม่า
ทำงานร้านกาแฟ
บนสถานี BTS

รู้สึกขึ้นมาเลยว่า
ทำดีใช้เวลากว่าจะเห็นผล
คนดีเลยต้องใช้เวลานาน
กว่าจะมีคนเห็น

แต่เวลาทำไม่ดี
มันจะได้ผล
ตรงข้ามกัน

Nov 3, 2014
ใช้สิ่งสามัญให้ทรงพลังที่สุด
ระหว่างหาความบันเทิง จากการดู The Voice ย้อนหลัง

รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว “เสียง” ของคนที่เข้าประกวด
คือสิ่งทีทำให้เราเห็นความแตกต่างของคนแต่ละคน
การดีไซน์ สร้างสรรค์ “เสียงร้อง” คือหัวใจของเวทีนี้

ดูเหมือนการจะแสดงผลงานอะไรให้ได้รับการยอมรับ
เราอาจแค่ต้องฝึกฝน ควบคุม พลังของสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด
โดยไม่ต้องรอสิ่งปรุงแต่งอื่นๆ เกินจำเป็น

ในขณะที่เรามองหาองค์ประกอบอื่นๆ มาสร้างตัวตน
เราอาจยังไม่ได้ทำสิ่งสามัญที่เรามีให้ทรงพลังมากพอ

Nov 4, 2014
บนบีทีเอส
ร่วมขบวนเดินทางบนราง
บางคนอยู่
บนชานชลา
บนหน้าจอ
บนเสียงเพลง
บนสถานีที่ผ่านมา
บนสถานีต่อไป
บนเครื่องตอกบัตร
บนเตียงนอน
บนโต๊ะทำงาน
บนทีวีย้อนหลัง
บนเกมเก็บคะแนน
ผมอยู่บน
บีทีเอส

Nov 5, 2014

เมื่ออะไรในชีวิต “เสีย”
เรามีทางเลือก 2 ทาง
ซ่อม
ทิ้ง
ซ่อม เพราะเราเห็นมูลค่าของอดีต
ทิ้ง เพราะเรามองหาคุณค่าของอนาคต
แต่เราเลือกไม่ได้แน่ๆ ว่าทำยังไงมันจะ
“ไม่เสีย”

Nov 23, 2014
ถ้าเราใช้ตรรกะ
ในการตัดสินใจ

สิ่งที่มองเห็นได้
คือคำตอบ
ที่ใกล้เคียง

แต่บางที

สิ่งที่มีอิทธิพล
ในการตัดสินใจ
อาจเป็นสิ่งที่
มองไม่เห็น
-Magic In The Moonlight

Nov 29, 2014
มิตรที่นัดกันอย่างไม่เป็นทางการแต่มาเจอกัน
สหายที่มาสายแล้วไม่ต้องขอโทษ
มิตรที่ฟังดนตรีด้วยกันแบบไร้คำพูด
สหายที่เจอกันแบบไม่มีเหตุผลแต่มีความหมาย
มิตรที่ไม่คุยเรื่องส่วนตัวแต่คุยถึงชีวิต
สหายที่รู้ใจกันด้วยความคิดและความทรงจำ
-บทรำพึงที่พาร์กกิ้งทอยส์

Jan 26, 2015
ศิลปะ คือ โลกส่วนตัว
-Big Eyes

Jan 26, 2015
มองงานให้ถูกมุม

ในงานเดียวกัน มีมุมให้มองหลายมุม
มุมปฏิบัติ มุมควบคุม มุมจัดการ มุมบริหาร มุมทิศทาง

ถ้ามองให้ดี
ชื่อตำแหน่งไม่ได้เอาไว้แค่กำหนดเงินเดือน
แต่มีไว้กำหนดมุมมองไปที่งานนั้นๆ
ว่าตกลงแล้ว เราต้องมองไปมุมไหน
และต้องเอาหน้าที่ตรงมุมนั้น
มาทำให้แหลมคมที่สุด

Feb 6, 2015
คนในปัจจุบันเห็นประวัติศาสตร์
คนในประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน
-The Imitation Game

Feb 6, 2015
ไม่มีพื้นฐานใดๆ ในความเข้าใจฟิสิกส์
สิ่งเดียวที่การดูหนัง The Theory of Everything กระตุ้นให้สนใจก็คือ
เมื่อมนุษย์ช่างคิดคนนึงต้องการหาคำตอบของจักรวาลที่ไร้ขอบเขต
ด้วยสมการข้อเดียว สิ่งที่เค้าตัดสินใจที่จะค้นคว้าและไขปริศนาคือ

เวลา

ซีนนึงในหนังที่เหมือนสภาวะยูเรก้าสำหรับผม คือตอนที่สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง
จับจุดได้ว่าจักรวาลมีช่วงเวลาที่หดตัว เลยมั่นใจว่าเมื่อพื้นที่มันเล็กลง
อาจจะค้นเจอ “ทฤษฎีของทุกสรรพสิ่ง” ได้ง่ายขึ้น

ความเป็นฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์อื่นๆ ในหนัง หรือในความเป็นจริง
สมองของผมไม่สามารถเข้าใจได้ แต่รู้สึกมีอะไรบางอย่างที่อยากคิดต่อ
เพราะชอบที่ฮอว์กิ้งให้ความสำคัญกับ TIME ว่าถ้าเรารู้จุดกำเนิดของเวลา
เราจะรู้ที่มาของทุกสรรพสิ่ง

แอบคิดตามว่า “สมการที่เรียบง่ายและสวยงามเพียงข้อเดียว”
ที่อธิบายโลกหรือจักรวาลที่ซับซ้อนได้ อาจเป็น “ความจริงเพียงข้อเดียว”
ที่เราต้องใช้เวลาทั้งชีวิตค้นหาเหมือนกัน

The Theory of Thirty Seven
6 Feb 2015
Bangkok

Mar 9, 2015
สมองส่วนที่รู้จักความรัก
ไม่มีวันเสื่อมสลาย
-Still Alice

Mar 25, 2015
ความคิดและการเล่าเรื่องของ มาโนช พุฒตาล คือต้นแบบที่ไม่ต้องลอก
ไม่ต้องตาม ไม่ต้องยกเป็นไอดอล เพราะมันคือกฎธรรมชาติของคนช่างคิด

Mar 30, 2015
คอนเซ็ปต์นิ่งๆ เพื่อเดินในงานสัปดาห์หนังสือเดือนมีนาคมปีนี้ พอสรุปว่าหนังสือที่ติดมือกลับมาคือ 2 เล่มนี้ ก็พอจะสรุปความสนใจตัวเองได้ว่า คงมีทั้งเรื่องทางธรรมและเรื่องทางโลก ปะปนกัน
วิถีแห่งเต๋า
โดนใจในความประณีตของการทำหนังสือของ Open ในซีรีย์ Open Deluxe ที่หยิบเอาคัมภีร์ชีวิตคลาสสิก มาจัดพิมพ์ใหม่ และเชื่อว่าหนังสือแนวนี้ ควรมีไว้คู่ชีวิต
อ่านทีวี
มีพี่ที่เคารพรักในการทำงานข่าว งานทีวี แนะนำเล่มนี้ตั้งแต่เห็นปกจากโรงพิมพ์ เลยไม่ลังเลใจเลยที่จะหยิบมาอ่าน เพราะน่าจะเสริมความคิดในสายงานอาชีพ ที่ทำอยู่ตอนนี้ ในมุมลึกได้
สัปดาห์หนังสือครั้งนี้ ผ่านไปเรียบๆ ง่ายๆ แค่นี้เลย

Apr 6, 2015
ในขณะที่ทดลองการสื่อสารในชีวิตของผม ชอบปรับไปตามความเห่อ
ในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่รู้จักกับ “บล็อก” จนมาถึงยุค “โซเชี่ยลมีเดีย”
ที่ก็วิ่งไล่ตามรูปแบบ ไปตั้งแต่การโพส Facebook ทวีตความคิดด้วย Twitter ถ่ายสิ่งที่คิดด้วย Instagram ไปถึงวีดีโอฟอร์แมทบน YouTube
และล่าสุดเห่อความสดจริงของ Snapchat (และคิดว่ามันจะ “มา” แน่ๆ)

แต่วิธีสื่อสารที่พูดมาทั้งหมด (และไม่ได้พูดอีกเพียบ ทั้ง Tumble / Google+)
เป็นกระบวนการเชิง “ทดลอง” ที่ว่ากันไปแล้ว ก็ไม่เคยรู้ปลายทางของมัน
ว่าจะจบยังไง ผมเองจะทำอะไรใหม่ๆ ได้จริงมั้ย เพราะทุกครั้งที่ทดลองทำ
ซักพักผมก็หยุดทำไปดื้อๆ เหมือนกับที่เริ่มทำแบบไม่มีเหตุผล

วันนี้ก็เลยตั้งหลักบอกตัวเอง ให้กลับมา “เขียน” บันทึก
ทั้งในเรื่องที่คิดและมุมชีวิตมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการเขียน
เป็นทั้งความตั้งใจดั้งเดิมของตัวเอง และเป็นรูปแบบ
การสื่อสารที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ซึ่งผมคงยังต้องฝึกฝนต่อ
หลังจากทิ้งร้างมานาน

37/2015
จึงเป็นชุดงานเขียนที่จะพูดถึง
มุมคิด-มองชีวิต ในวัย 37 บนสภาพแวดล้อมของปี 2015 ของผม
เพราะเชื่ออย่างนึงว่า ในแต่ละช่วงอายุ ผมมักจะคิดเรื่องเดิมๆ
แต่มุมมองก็จะขยับจากจุดเดิมๆ เสมอ

หวังใจว่าการกลับมาตั้งหลัก ที่ความสามารถขั้นพื้นฐานที่สุดของตัวเอง
นั่นก็คือ “การเขียน” จะทำให้แง่มุมที่อยากถ่ายทอดออกมาใกล้เคียงกับ
ความคิดที่มีกับชีวิตมากที่สุด โปรดติดตามอ่านนะครับ

37/2015
Just Jakk Writing on Life&Ideas
เขียน มุมคิด มองชีวิต

Apr 9, 2015
37/2015 -เด็กรุ่นใหม่
อาจจะอายุมากพอจะเขียนถึงคนรุ่นใหม่กว่าได้บ้าง เลยตั้งข้อสังเกตพอสังเขปว่า นักสร้างสรรค์เจเนอเรชั่นใหม่ๆ มีพลังที่น่าสนใจมากๆ มีความสามารถที่ทะลุขีดของคนรุ่นที่มาก่อนได้แบบไม่จำกัด แต่สิ่งเดียวที่เป็นประตูขวางกั้นความพิเศษนั้นมีอยู่แค่บานเดียว นั่นคือ “ความคิดที่เชื่อว่าพวกเค้าแตกต่างแต่ไม่ลงมือทำสิ่งที่แตกต่างจริงๆ”

แต่เพราะยังมั่นใจในพลังของคนรุ่นใหม่กว่าเสมอ ผมก็ยังเชื่อว่าวันนึงจะเห็นความแตกต่างเกิดขึ้นจากการลงมือทำ โดยที่พวกเค้าไม่หยุดอยู่แค่หน้าประตูที่เข้าใจไปเองว่าความแตกต่างเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เอาไว้คิดเท่านั้นและไม่มีทางที่คนรุ่นเก่ากว่าจะเข้าใจ

ทุกยุคสมัย/มีคนที่แตกต่าง

DON’T THINK YOU’RE DIFFERENT IF YOU’RE DOING THE SAME

Apr 21, 2015
37/2015 — ประชุม
การให้เกียรติในห้องประชุม สิ่งสำคัญคือ การให้เกียรติกับเวลาของทุกคน ที่เปิดประตูเข้ามาในห้องประชุม

การเตรียมตัวที่ดีของผู้ที่นัดประชุม เปรียบเหมือนการจัดโต๊ะอาหารได้ลงตัว และปล่อยเมนูออกมาในจังหวะที่เหมาะสม รสนิยมความคิดวัดกันได้ว่าคุณเตรียมโต๊ะแบบไหนไว้รับแขก โต๊ะจีนลำดับอาหารเน้นอิ่มแต่อาจจะขโมงโฉงเฉงไปหน่อย โต๊ะฝรั่งก็อาจมีจังหวะมารยาทเคลือบในถ้อยคำความคิดเห็น

แต่ไม่ใช่ว่าต้องจัดอาหารเลิศหรูเกินจำเป็น การจัดสรรเวลาในการประชุม ด้วยเมนูที่จริงใจ ให้เกียรติกับเวลาของทุกคน ต่อให้มันจะเป็นแค่ฟาสต์ฟู้ดก็ไม่ผิด ถ้าคุณชัดเจนว่าประเด็นของการสนทนาในห้องเริ่มตรงไหนจบตรงไหน

ไม่ใช่แค่ว่าเชิญทุกคนมานั่งล้อมโต๊ะ แล้วรอคุณเลือกเมนู และแขกได้แค่ยกน้ำ “เปล่า” ดื่ม ระหว่างรอคุณสอบถามเรื่องเมนูนั้นเมนูนี้ โดยไม่ตัดสินใจอะไรเลย

Apr 24, 201
37/2015-หน้าที่
ในการทำงาน หน้าที่คือพื้นที่ การตีกรอบให้ขอบเขตของความรับผิดชอบเป็นงานดีไซน์อย่างนึง การล้ำเข้าไปในพื้นที่ของคนอื่นเป็นเรื่องต้องระวัง แต่การมีห้องรับแขกที่น่านั่ง เป็นฟังก์ชั่นแรกๆ ที่ต้องใส่ลงในแปลน

ในพื้นที่บางคนเน้นโต๊ะทำงาน บางคนเน้นโต๊ะกาแฟ บางคนเน้นสนามเด็กเล่น ผมไม่แน่ใจว่าพื้นที่ที่ผมดูแล มีโต๊ะแบบไหน ที่จะต้อนรับใครได้บ้าง แต่ที่แน่ๆ ถ้าใครมาเคาะประตู ผมจะเปิดแล้วลากเก้าอี้มานั่งคุยกันแน่ๆ แต่ถ้าไม่มีใครเคาะ จากนี้จะไม่เดินออกไปล้ำพื้นที่ใครให้เกินหน้าที่ จะพยายามใช้เวลานั่งจัดชั้นหนังสือและกาแฟดีๆ ไว้รอรับแขก คงดีกว่า

37/2015-หน้าที่
ในการทำงาน หน้าที่คือพื้นที่ การตีกรอบให้ขอบเขตของความรับผิดชอบเป็นงานดีไซน์อย่างนึง การล้ำเข้าไปในพื้นที่ของคนอื่นเป็นเรื่องต้องระวัง แต่การมีห้องรับแขกที่น่านั่ง เป็นฟังก์ชั่นแรกๆ ที่ต้องใส่ลงในแปลน

ในพื้นที่บางคนเน้นโต๊ะทำงาน บางคนเน้นโต๊ะกาแฟ บางคนเน้นสนามเด็กเล่น ผมไม่แน่ใจว่าพื้นที่ที่ผมดูแล มีโต๊ะแบบไหน ที่จะต้อนรับใครได้บ้าง แต่ที่แน่ๆ ถ้าใครมาเคาะประตู ผมจะเปิดแล้วลากเก้าอี้มานั่งคุยกันแน่ๆ แต่ถ้าไม่มีใครเคาะ จากนี้จะไม่เดินออกไปล้ำพื้นที่ใครให้เกินหน้าที่ จะพยายามใช้เวลานั่งจัดชั้นหนังสือและกาแฟดีๆ ไว้รอรับแขก คงดีกว่า

Apr 27, 2015
37/2015 -โรงแรม

โรงแรมคือบริการที่ทำให้ชีวิตสุรุ่ยสุร่ายขึ้น ตั้งแต่การได้ welcome drink การมีผ้าขนหนูพับเป็นรูปหงส์ มีดอกกล้วยไม้วางบนเตียง จนไปถึง Breakfast เยี่ยงราชา

มานั่งทบทวนดูว่า ช่วงเวลาแบบนี้มีประโยชน์อะไรกับการใช้ชีวิตของเราบ้าง ก็เลยเห็นมุมคิดนึงว่า การเข้าพักในโรงแรมที่เตรียมความสะดวกสบายสารพัดไว้ให้เรา จริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่ให้เราได้ขี้เกียจเต็มที่ แต่มันคือ “ช่วงเวลาเหนือจริง” ที่ทำให้เราได้ “ทดลอง” ตัดภาระของชีวิตจริงดู ว่าถ้าไม่ต้องทำภาระสามัญประจำบ้าน เราจะทำอะไรได้บ้าง

สังเกตตัวเองได้อย่างเดียวว่า เมื่ออยู่ในภาวะเหนือจริงในโรงแรม เราจะอยากทำเฉพาะสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือ นั่งมองฟ้า มองทะเล

ถ้างั้น อาจเป็นได้ว่า การสร้างสภาวะเหนือจริงขึ้นมาบนสถานที่ใดๆ อาจจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ เท่านั้น

May 18, 2015
Keyword แห่งเต๋า
ดั้งเดิมและเรียบง่าย (Primordiality&Simplicity)

May 20, 2015
ไซส์ของลอนดอนใต้ดิน
เหมือนฉากในหนังของ มิเชล กอนดี้
ที่ใช้นักแสดงหน้าใหม่
เลยยังเล่นหนังแฟนตาซี
ออกมาเป็นหนังอินดี้
กลิ่นอับอับ

London Underground 2015

May 20, 2015

ถ้าวัดที่ขนาด
อุโมงค์จากอดีตใต้ดินลอนดอน
อาจเหมือนผิดพลาด เพราะมัน
กะทัดรัดกว่าปริมาณคน ของวันนี้

แต่ถ้าวัดที่ความตั้งใจ
ของลอนดอนเนอร์โบราณ
อุโมงค์จากอดีตใต้ดินลอนดอน
ยังคงกว้างและไกล
ให้ทุกเที่ยวรถไฟ
วิ่งอยู่ได้ใน
ปัจจุบัน

London Underground 2015

May 22, 2015

เมืองจะทันสมัยแค่ไหน
การแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา
ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น

London Street 2015

May 23, 2015

เวลาบนรถไฟ

มีความเป็นส่วนตัวที่น่าสนใจ

เมืองที่มีรถไฟหลายๆ สาย

จึงเป็นเมืองที่คนมีเรื่องส่วนตัว

ที่น่าสนใจ


May 26, 2015

ทัศนศึกษา
ศึกษาทัศนะ
จากอดีตกาล

National Gallery , London 2015


May 28, 2015

เมื่อวางแผนเดินทาง

ทุกที่ ที่เราไป เพราะเราอยาก เห็น

แต่เมื่อเดินทางไปถึง

ทุกที่ ที่เราไป เราอาจแค่ได้ อยู่

เพียงช่วงเวลาหนึ่ง

ทำให้บางทีสายตาก็เดินทางไม่ถึง

แต่ตัวเรากับอากาศตรงนั้น

จะบอกความรู้สึก

ให้เราเอง

Buckingham Palace / London2015


Jun 5, 2015

เมื่อไปถึง

เราอยากร่วมเฟรมกับจุดหมาย

เมื่อกลับมา

เราจะรู้ว่าคนที่ร่วมเฟรมข้างๆ เรา

มีความหมาย มากกว่า

London Eye, London 2015


Aug 3, 2015
บางทีเราไม่ได้ฝึกหนัก เพื่อให้แข็งแกร่งขึ้น
แต่เราอาจต้องฝึกหนัก เพื่อให้เราอ่อนโยนลง

Oct 9, 2015

สถานบำบัดความคิด
รู้ตัวมานานแล้ว ว่าร้านหนังสือหรือห้องสมุด เป็นสถานบำบัดความคิดของตัวเอง พอเดินเข้าไปมันเหมือนเราได้เข้าไปในคลับ ที่มีแต่คนที่พูดเรื่องน่าสนใจ อยากฟังเรื่องแนวไหน ก็เดินไปที่ชั้นหนังสือแนวนั้น เราก็จะเจอบุคลิกแปลกๆ ที่มาในรูปของหน้าปก และคำทักทายที่มาในรูปแบบชื่อหนังสือ พอเปิดอ่านมันเหมือนมีคนชวนคุย และเมื่อเจอคนคุยน่าสนุก เราก็อยากทำความรู้จักกันยาวๆ

รู้ตัวอีกที ก็เริ่มเข้าใจตัวเองว่า เราใช้หนังสือที่วางอยู่ในชั้นเป็นเพื่อนคุย แลกเปลี่ยนความรู้ หลายครั้งหนังสือภาษาอังกฤษแนวคิดแบบฝรั่งๆ มันก็พาเราล้ำไปข้างหน้า จนบางครั้ง เราคิดเร็วไป จนคุยกับใครไม่รู้เรื่อง

บางทีก็ไปคุ้ยหาหนังสือไทย ซึ่งในวัยนี้ทำไมไม่รู้ชอบคุยกับคนรุ่นเก่า นักเขียนเก๋าๆ สำนวนกวนๆ ยิ่งภาษาพาให้นึกถึงตอนหัดอ่านหนังสือ มันยิ่งดูเหมือนเราเจอรายละเอียดบางอย่าง ที่หาไม่ได้ในภาษายุคแชร์บ๊วย

ถ้าไปจัดหมวดหนังสือที่ตัดสินใจซื้อออกมาจากร้าน จะรู้เลยว่าในแต่ละห้วงความคิด เราทำไมถึงเลือกสนทนากับหนังสือเล่มนั้น

วันนี้อยากตั้งคำถามว่า ถ้าเราเข้าร้านหนังสือเพื่อบำบัด หนังสือที่เราเลือกหยิบมาสนทนา มันคือการ “บำบัดอาการ” หรือเป็น “ต้นเหตุของอาการ”

แจ๊ก

กรุงเทพ / 9 ตุลาคม 58

Oct 10, 2015
37/2015 – คำนำ
คนอ่านคุ้นเคยที่จะทำความรู้จักกับหนังสือ ผ่านคำนำ ทำให้นักอ่านที่อยากเขียนหนังสือบ้าง ก็เลยมักเริ่มต้นจากการคิดถึง คำนำ จนบางทีลืมไปว่าหนังสือหนาๆ มีคำนำอยู่ไม่กี่หน้า

เพิ่งจะเริ่มสังเกตว่า หนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ค่อยให้ความสนใจกับคำนำสักเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าไม่มี เรียกว่าแกไม่ยี่หระกะคำนำ น่าจะบอกอารมณ์ (หนุ่ม) ของแกได้มากกว่า

เคยดูสารคดีของ Bob Dylan ที่จะมีซีนแกคาบบุหรี่อยู่หน้าเครื่องพิมพ์ดีดควันขโมง แต่เหมือนพอพ่นออกมามันกลายเป็นตัวอักษร เป็นบทกวี ที่กลายมาเป็นบทเพลง มีบางซีนในสารคดี เราจะเห็นว่าก่อนขึ้นเวทียังเห็นลุง Bob แกสูบไป พิมพ์ไป อยู่เลย

…มันมีอารมณ์บางอย่างของนักเขียนรุ่นเก๋าๆ ที่หาคำของวันนี้มาอธิบายไม่ได้ แต่จะลองดู

นักเขียนรุ่นเก่าเลี้ยงชีพด้วยตัวอักษร เครื่องพิมพ์ดีดที่ต้องสปีดเร็วเท่าความคิด คือวิชาที่หาได้ตอนค่ำคืน ที่มีบุหรี่ยาเส้นเป็นเพื่อน สายตาของนักเขียนรุ่นเก่ามองโลกเป็นภาษา มองชีวิตเป็นสำนวน การนั่งคั้นปั้นเรียง ความคิดออกมาบนหน้ากระดาษ ให้สละสลวย เป็นบทความ เป็นเรื่องสั้น เป็นแก็กขำขัน เป็นผลิตภัณฑ์ทางอักษร ที่ต้องส่งให้สำนักพิมพ์ เพื่อค่ายังชีพ และการได้มีหนังสือสักเล่ม เลยเป็นเหมือนศิลปินได้มีนิทรรศการของตัวเองเป็นรูปเป็นเล่ม

เมื่องานเขียนเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต การมัวแต่นั่งคิดถึงคำนำ มันก็จะคล้ายคนที่ออกจากบ้านช้าจนผิดนัด เพราะมัวแต่เลือกเสื้อผ้า รองเท้า ทั้งๆ ที่บางทีเตรียมชุดมาอย่างดี เตรียมคำนำมาสวยหรู แต่ฝนดันตกมา แผนก็เละ คำนำที่จัดแต่งอย่างสวยหรู ก็ไม่มีเนื้อเรื่องที่จะเดิน

‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ยี่หระกะคำนำฉันใด การสร้างงานเขียน งานเล่า ก็อาจเริ่มจากตรงไหนของความคิดก็ได้ฉันนั้น

10 ตุลา 58 /บางกอก

Oct 13, 2015

น่าจะเป็นเพราะ เราเป็นลูกร้านวีดีโอ ที่ได้ดูพวกไอ้มดแดงตอนใหม่ๆ ก่อนมันฉายในทีวี

รึอาจจะเป็นเพราะ เราเป็นลูกร้านเกม ที่ได้เป็นทั้งคนเลือก และคนลองเล่น ก่อนจอยสติ๊กจะถึงมือลูกค้าในร้าน

หรือมันเป็นเพราะยุคอัลเทอเนทีฟ ที่เราเชื่อในทางเลือกของแนวเพลง ทำให้เทปวงแปลกๆ ยุค 90s กองอยู่เต็มบ้าน

แต่ก็เป็นไปได้ว่าเพราะการเดินทางไปเหยียบนิวยอร์ก ในวัยที่ความสงสัยจางหาย มีแต่ความเข้าใจที่เติบโต

เอาว่า มันน่าจะมาจากทุกสาเหตุในชีวิต

ที่ทำให้เราอาจไม่ค่อยเหมือน คนอื่นๆ ไปบ้าง โดยเฉพาะไอ้สิ่งที่อยู่ในหัว ซึ่งพอยิ่งแก่กร้าน มันก็เริ่มออกมาที่การกระทำมากขึ้น

ยิ่งในยุคที่เราเห็น “คนอื่นๆ” ผุดขึ้นมาตาม Timeline ในโซเชียลมีเดีย ไอ้อาการเอือมความซ้ำซาก เซ็งความคับแคบของทางเลือก ที่เราเห็นคนอื่นๆ เค้าเป็นกันวันต่อวัน มันก็กำเริบ

ไม่ต่างจากตอนเห็นเพื่อนในโรงเรียนยังคุยเรื่องไอ้มดแดงวี2 ทั้งที่เราเปิดวีดีโอไอ้มดแดงวี4 ดูไปก่อนแล้ว หรือตอนเห็นเด็กในร้านเกมอวดการกดสูตรที่เราแทบจะท่องจำได้ และแน่นอนเด็กอัลเตอร์อย่างเราอย่าให้ได้ยินเพลงป็อบดาดๆ มาเข้าหู….

มาลองทบทวนว่า คนอื่นๆ เค้าก็ต้องคิดแบบ อื่นๆ แน่ๆ อยู่แล้ว ไอ้คนที่มันดันไปรำคาญความอื่นๆ ที่ซ้ำซากนั้น มันก็คือตัวข้าพเจ้าเอง

ในเมื่อเราคงย้อนไปกรอกลับวีดีโอไอ้มดแดงวี4 แล้วรอดูพร้อมเพื่อนบนทีวีไม่ได้ เราจะเลือกเกมโดยที่ไม่ลองเล่นก็คงไม่ดี เราจะมองข้ามโมเดิร์นด็อกไปหยิบแต่เพลงพี่มอสฟัง ก็ไม่น่าจะใช่จริตในเวลานั้น หรือเราจะลืมนิวยอร์ก เมืองที่ทั้งรักทั้งเกลียด ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

วันนี้มีข้อสรุปให้ตัวเองว่า คนอื่นๆ ก็มีต้นทางความคิดอย่างที่เค้าเป็น ถ้าเราไม่เห็นความก้าวหน้าของทางคิดเหล่านั้น เราก็ทำได้แค่ ไปหยิบวีดีโอไอ้มดแดงม้วนต่อไป มานั่งดูและสนุกกับการมองเห็นสิ่งที่มันเคลื่อนไหว ไปก่อนคนอื่นๆ แทนการตั้งคำถามว่าทำไมคนอื่นๆ ถึงยังดูอะไรที่มันซ้ำๆ แบบนั้นอยู่ได้ เพราะการตั้งคำถามกับคนอื่นๆ มันเสียเวลาเรา ที่ควรเอาไปคิดถึงอะไรใหม่ๆ ดีกว่า

JKK

14 October 2015 / Bangkok


Oct 13, 2015

เกิดความเข้าใจเรื่อง “วัฒนธรรมทางดนตรี” และ “วิถีปฏิบัติ” ของศิลปินเพลงจากการนั่งฟังสัมภาษณ์ ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ เลยอยากคัดย่อเก็บไว้ในรูปแบบตัวอักษรเพื่ออ่านเอง และแบ่งปันมิตรสหาย ด้วยการเรียบเรียงคำพูดของฮิวโก้ เฉพาะในแง่มุมวัฒนธรรมดนตรี และวิถีศิลปินเพลง

วงการเพลงที่โน่นกับเรื่องอินเตอร์เน็ตเรื่องอะไรพวกนี้ มันก็ปรับปรุงไปเยอะ พอมีการต่อสัญญากัน เค้าก็ออกงบให้ผมอัด ผมก็เลือกที่จะมาอัดที่เมืองไทย เอาบุคลากรจากเมืองนอก มาอัดที่คาม่าซาวน์ (Karma Sound Studio) ที่บางเสร่ ซึ่งก็เป็นห้องอัดมาตรฐานโลก ก็ยังกะที่จะทำส่งเมืองนอกอยู่ แต่ทำไปทำมามันเริ่มยืดเยื้อ ทางค่ายก็เริ่มกลายพันธุ์ไปเป็นบริษัทผู้จัดการนักกีฬาบ้าง คือเค้าน่าจะมีธุรกิจเป็นร้อยล้านเหรียญ ตัวผมอย่างดีเลยก็เป็นธุรกิจแสนเหรียญต่อปีก็เลยไม่ค่อยอยู่ในสายตาเท่าไหร่

ผมก็เริ่มใจร้อน ตอนนั้นก็มีลูกแล้วและกำลังจะมีลูกอีกคน ผมก็ต้องการความชัดเจนกับการวางแผนชีวิต มันก็เกิดทั้งเรื่องดีบ้างไม่ดีบ้าง ในที่สุดเค้าก็บอกว่า คงทำอะไรกับผมไม่ได้ละ ก็เลยปล่อยผมเป็นอิสระ อยากทำอะไรก็ทำ ผมต้องใจร้อนเพราะในช่วง 2 ปี ผมน่าจะออกได้ตั้ง 2–3 ชุด แต่ผมออกได้ชุดเดียว เราก็เลยจบกันตรงนั้น

แต่ชุดใหม่ (Deep in The Long Glass) ก็ยังเป็นผลงานร่วมกันแต่ผมย้ายกลับมาทำที่เมืองไทย และผมก็ยังทำเพลงภาษาอังกฤษอยู่

อินเตอร์เน็ตเป็นดาบสองคม จริงอยู่มันอาจทำลายรายได้ของวงการเพลง แต่ในเวลาเดียวกันมันก็เป็นวิธีการจัดจำหน่าย ที่คุณสามารถอยู่ประเทศอะไรก็ได้ แล้วก็ส่งเพลงไปทั่วโลก ทำ MV ใน YouTube คนก็ดูได้ทั่วโลก มันเลยไม่อยู่ที่ว่าทำงานเมืองนอกรึเปล่า มันอยู่ที่เราเลือกจะร้องภาษาอะไร ภาษาอังกฤษนี่สามารถขายได้ทั่วโลก อเมริกาตลาด 300 ล้านคน เป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก เพราะฉะนั้น ขนาดของตลาดมันก็มีแรงกดดันต่อบุคลากรที่ทำงานอยู่ในวงการนั้นที่แตกต่างกัน

ที่โน่นนักดนตรีมีการแข่งขัน แต่ตลาดมันก็ใหญ่พอที่นักดนตรีจะสามารถเลี้ยงอาชีพตัวเองได้ มีบางวงที่พวกเราคงไม่รู้จักเลย แต่เค้าสามารถทัวร์ตระเวณทั่วอเมริกาทุกๆ ปี เพื่อเล่นให้คนเป็นพันเป็นหมื่นดู ตลาดมันรองรับศิลปินได้เยอะ

ดนตรีหรืองานศิลปะมันไม่ได้มีกติกาอะไรเลย เพราะถึงคุณจะทำเพลงดีร้องเพลงเพราะ หรือหน้าตาดี ไม่ได้จำเป็นว่าคนต้องชอบคุณ

การที่ผมเป็นคนจากหลากหลายวัฒนธรรม มันทำให้ผมเห็นถึงความคล้ายของมนุษย์ทั่วโลก มากกว่าความแตกต่างซะอีก

วัฒนธรรมดนตรีที่ผมเลือกจะมาเล่น อย่างเช่นร็อคแอนด์โรล มันก็เป็นวัฒนธรรมของอเมริกา มันเป็นดนตรีพื้นบ้านของเค้า ไอ้ดนตรีที่เราชอบ คันทรี่ บลูส์ บลูกราส ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี โซล แจ๊ซ นี่เป็นวัฒนธรรมอเมริกันของศตวรรษที่ 20 มันไม่ใช่ของคนอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าคนไทยคิดจะไปแข่งตรงนั้นมันก็เหมือนฝรั่งที่จะมาทำเพลงลูกทุ่งในเมืองไทย มันก็คงมีได้ไม่กี่คน เพราะในที่สุด ลูกทุ่งก็เป็นวัฒนธรรมของเรา จะหมอลำ จะลูกทุ่ง ในที่สุดคนที่เก่งที่สุดก็จะเป็นคนไทย

เรื่องที่ผมมีความสุขที่สุดคือ ได้ขับรถตู้ แล้วก็ลากเทรลเลอร์ทัวร์ไปทั่วอเมริกา ผมไปครบเกือบทุกรัฐ ผมหลงไหลในความกว้างใหญ่ของอเมริกา

ผมไปรัฐไหนพอมีคนชื่นชอบ ผมก็หวังว่าเค้าจะเห็นถึงความเคารพที่ผมมีต่อวัฒนธรรมพื้นบ้านของอเมริกา

อเมริกาเป็นประเทศที่เจ๋งตรงที่ว่า วัฒนธรรมที่ดังในเรื่องดนตรี มันเป็นวัฒนธรรมของคนพื้นบ้าน มันเป็นวัฒธรรมของคนจน

ผมไม่ได้โกอินเตอร์ เพราะผมเป็นแค่ฝรั่งอีกคนที่ทำงานอยู่ที่โน่น ผมก็เหมือนจากเคยเป็นปลาใหญ่ กลายเป็นปลาเล็ก ก็ต้องปรับตัว แต่ในที่สุดผมก็ชอบ ชอบที่จะทำอะไรเอง ยกของ ขับรถ คือผมได้เรียนรู้ว่าดนตรีคือการขนส่ง และอีกเรื่องที่เรียนรู้คือเรื่องความแพง กว่าจะลงมือทำอะไร จะออกไปเล่นก็ต้องจ้างนักดนตรี ทุกอย่างมันเป็นเรื่องเงินทองหมด ถ้าไม่มีตังค์ทุกอย่างก็จบ

ระบบทุนนิยมอิสระมันอิสระก็จริง แต่มันก็โหดเหี้ยม เชือดเฉือนมาก

ถ้าในเรื่องความรู้สึก ผมรู้สึกสบายใจ พอผมขึ้นเวที ผมรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่คนป่วยคนนี้ รู้สึกปกติ และได้เดินทางได้เจอผู้คน ผมชอบมาก

Deep in The Long Glass ผมประยุคขึ้นมาว่าเป็น Grass-Hop ก็เป็นการผสมดนตรี Bluegrass กับจังหวะกลอง Hip-Hop แต่มันก็มีหลุดๆ บ้าง มันก็เป็นดนตรีแบบของผม แต่แน่นอนมันรับอิทธิพลจาก Rock&Roll จาก Country จาก Blues จาก Soul จาก R&B จากดนตรีอเมริกันยุคกลางศตวรรษที่ 20

อัลบั้มนี้บันทึกในเมืองไทย ทำภายใต้สัญญากับ ROCNATION แล้วก็ไปตัดต่อ ไปเพิ่มร้อง ไปมิกซ์ที่อังกฤษ แล้วพอผลิตเสร็จ ผมก็ขอความชัดเจนจาก ROCNATION ว่าโอเคผมขอจัดการเองละกัน เค้าก็ขอ 50% ของ iTunes ก็ถือเป็นอัลบั้มลูกครึ่ง แต่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด จำหน่ายโดย Warner ในเมืองไทย โดยมีบริษัท Lullaby กับ SO:ON เป็นค่ายที่มาดูแลเรื่องถ่ายปก ถ่าย MV โปรโมชั่นต่างๆ

ผมไม่ได้ปฏิเสธที่จะทำเพลงไทย แต่ในเมื่อเราเดินมาทางนี้แล้ว เราก็มีแฟนเพลงในหลายๆ ประเทศ เราก็ควรจะบริการเค้า

ผมหวังว่าผมเป็นคนชัดเจน ผมอาจไม่ใช่คนดี ผมก็เป็นคนใจร้อน บางทีผมก็เอาแต่ใจ แต่ผมว่าผมชัดเจน ผมว่าผมแฟร์

ถอดบทสนทนาของ ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์
จากรายการ Nake and the City ทาง ไทยรัฐทีวี
วันที่ 20 มกราคม 2558

watch the interview http://bit.ly/1VOZKTV

////////////////////////////////////

TWEET MARK

“วัฒนธรรมดนตรีของอเมริกัน” ที่ฮิวโก้พูดถึงคือการพาดนตรีออกเดินทางไปแนะนำตัวให้ผู้ฟัง ด้วยการแสดงทั่วทุกรัฐ ไม่ใช่แค่ออกซิงเกิ้ลแล้วรอเงิน

ถ้ามีขั้นบันไดมาตรฐานสากลของศิลปินเพลง ฮิวโก้คือศิลปินที่ก้าวอยู่บนขั้นต้นๆ ของประเทศไทย เพราะสิ่งที่เป็นแก่นของงานพี่แกคือ วัฒนธรรมดนตรี

มาถึงคอนเสิร์ต ฮิวโก้ สนับสนุนวัฒนธรรม ด้วยเสื้อยืดคอนเสิร์ต และ แผ่นเสียง!!!

ดนตรีของฮิวโก้มีพลัง และมีวิถีปฏิบัติของศิลปินเพลง ที่น่าสนใจ

เราอาจต้องค้นหา “วิถีปฏิบัติ” ของวัฒนธรรมที่เราสนใจ พอๆ กับที่ต้องค้นคว้า “ผลิตผล” ที่เราจะสร้างขึ้นด้วย

twitter @jakksky


Oct 15, 2015

ความคิดนี้เกิดขึ้นในห้องประชุม

ห้องประชุมคืองานปาร์ตี้ของปัญหา บางทีมันก็แฝงมาในชื่อ “อัพเดทงาน” ที่ลงท้ายว่ายังไม่เสร็จเพราะอะไร รึอาจแปลงร่างมาเป็น “รายงานผล” ที่ก็ไม่พ้นบอกสิ่งที่ขวางความสำเร็จ

ยิ่งการประชุมมีหลายฝ่าย ปัญหาจะดูเยอะแต่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเราบันทึกปัญหาที่แต่ละฝ่ายมี ซึ่งก็มักจะเกี่ยวข้องกับฝ่ายอื่นๆ ด้วย เราอาจต้องขอยกมือว่าปัญหาที่เอามามิกซ์ผสมเทแบ่งกันนี่ คงจะเมาไปอีกหลายเดือน กว่าจะหาทางสร่างปัญหาได้

ระหว่างที่ในมือผมมีแค่สมุดกับปากกา

พุธิปัญญาก็พลันสว่างวาบ แข่งกับแสงโปรเจ็คเตอร์ ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือชีวิต ถ้าเราหอบทุกสิ่งจากปาร์ตี้ปัญหาขึ้นมา มันต้องหล่นทับเราตายก่อน และให้ตายเถอะใครจะแกะกล่องที่มีแต่ปัญหาได้เกิน 3–4 กล่อง

แสงสว่างวาบนั้นมันกลายเป็นสปอร์ตไลค์ ไฟฟอลโล่ว ส่องมาที่ตัวเราว่า เฮ้ย! ถ้าเราคนเดียว ดีลกับปัญหาในชีวิตที่เหมือนกล่องกองเท่าภูเขา เราจะรับมือมันได้เหรอ มนุษย์เรามีหน่วยวัด “จำนวน” ปัญหาที่รับมือได้ขนาดไหน?

รึเราจะลองว่างกล่องไว้ข้างๆ แล้วเริ่ม “นับหนึ่ง” ที่ตัวเรา เพราะถ้าเราดีลกับปัญหา ให้มีจำนวนน้อยที่สุด เราก็ต้องตั้งหลักที่ตัวเราเองนี่แหละ เพราะปัญหามันอาจมี “จำนวน” ไม่จำกัด แต่ที่สิ่งที่ชีวิตเรานับได้แค่ 1 แน่ๆ มันก็คือ “ตัวเรา”

ด้วยวัยตอนนี้ ทำให้รู้ว่าต่อให้เราแบกรับกล่องปัญหาได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะแก้ได้ทุกกล่อง การนับที่ตัวเราที่มีจำนวนแค่ 1 มันน่าจะง่ายกว่าการดีลกับทุกๆ ปัญหาที่วิ่งเข้ามา

วันนี้ ขอตั้งชื่อแนวคิดนี้ว่า One&Only Theory เพราะเชื่อว่าต่อให้ปัญหาจะมีมาจากกี่ฝ่ายในชีวิต แต่ทางเข้าและออกของมันมีทางเดียว คือตัวเราเอง


Oct 15, 2015

กล้องที่ตั้งใจซื้อมาทำ Vlog
มีฝุ่นเข้าไปในระบบเซ็นเซอร์
ต้องเอาไปซ่อม เลยได้โอกาส
ซื้อแบทเตอรี่เพิ่ม เพื่อเตรียมไปถ่าย
ทริปญี่ปุ่นช่วงต้นเดือนธันวาคม

ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตผม
มักจะเป็นสัญลักษณ์ของการ
พยายามทำอะไรซักอย่างนึง
และทุกครั้งผมก็ใช้มันไม่คุ้ม
ตามที่ตั้งใจตอนแรก

เจ้ากล้องนี้ก็เหมือนกัน
Vlog ที่ถ่ายด้วยกล้องนี้
มีออกมาเพียง 10–11 ชิ้น
และกองไฟล์ใหญ่ๆ ที่ไม่ได้ตัดต่อ

พอกล้องเสียและเอาไปซ่อม
มันเหมือนเตือนให้ผมนึกถึง
ความเห่อเมื่อได้กล้องนี้มาวันแรกๆ
มันเตือนให้ผมใช้มันให้คุ้ม
กับความตั้งใจแรกที่ซื้อมา

เมื่อเราต้องซ่อมแสดงว่า
ทุกอย่างมันมีเวลาของมัน
ผมว่าผมต้องใส่ใจใช้ให้คุ้ม
และดูแลภารกิจของมันให้ดี
ให้สมกับความตั้งใจแรกๆ

6/11/2014
Originally published at www.jakksky.blogspot.com on November 6, 2014.

Oct 18, 2015

37/2015 – ความทรงจำ
วันเสาร์ วันอาทิตย์ มีมวลความพอใจบางอย่างเป็นสารตั้งต้น บางคนได้นอนเฉยๆ ฟังเสียงลม เสียงฝนอยู่ในบ้านก็รู้สึกพิเศษแล้ว บางคนได้ใช้ราตรีวันศุกร์ไปกับปาร์ตี้ แล้ววันเสาร์มีดีกรีในอารมณ์นิดๆ ต่อด้วยวันอาทิตย์ที่ไม่มีแบบแผน

การนอนตี 3 ในวันศุกร์ โดยที่ไม่ได้กลับจากปาร์ตี้ไหนๆ นาฬิกาเลยมอบช่อดอกไม้ให้ twitter @jakksky 10/17/2558, 3:01 AM

วันหยุดมันมีความหย่อนของอารมณ์บางอย่าง ที่เปิดทางให้กับการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผลบ้าง

เลยไม่แน่ใจว่าเวลาที่เรารู้สึกพอใจกับเวลาที่ได้ใช้ไป มันเกิดขึ้นเพราะ “เราให้ค่ากับเวลา เลยวางแผนใช้มันอย่างมีเหตุผล”

ตื่นเช้าๆ วันเสาร์ได้ คือ Life Voucher @jakksky 10/17/2558, 7:48 AM

แต่ถ้านึกย้อนถึง เรื่องที่ผ่านไปแล้ว แต่ยังอยู่ในความทรงจำ บางครั้งมันเป็นเหตุการณ์ที่ส่วนใหญ่เราก็ไม่ได้ตั้งใจ หรือใช้เหตุผลในเรื่องนั้นซักเท่าไหร่

ยังจำเช้าชื้นๆ วันเสาร์ที่นิวยอร์กวันนั้นได้ มีเรียน 8 โมงเช้า มันเป็นชั่วโมงทรงจำ @jakksky 10/17/2558, 8:02 PM

หรือว่าจริงๆ แล้ว “เวลาจะให้ค่ากับเราอย่างไม่มีเหตุผล” โดยเฉพาะอารมณ์ในโหมด “ความทรงจำ” เพราะบางครั้งในเหตุการณ์นั้นมีเรื่องให้จดจำมากมาย เพราะมันมีหลายอย่างที่ทำไปเพราะเหตุผล แต่ความทรงจำกับเลือกที่จะจำบางอย่าง ที่มันดูไม่มีเหตุผลเลย

เราจำกลิ่นรสของขนมที่แอบกินในเต๊นท์ ตอนเข้าค่ายลูกเสือได้แม่น มากกว่าว่าเราไปเข้าค่ายที่ไหน กี่วัน

เราจำเมนูอาหารที่สั่งผิดตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ชัดเจนกว่าเมนูแนะนำในร้าน

ยิ่งนึกย้อน ยิ่งรู้สึกว่า ทำไมเรื่องที่เราจำกันได้ มันจะไร้ระเบียบมาก หาตรรกกะใดๆ ไม่ได้

หรือว่า

เราเป็นเหมือนนักออกแบบที่ใช้เวลาให้คุ้มค่า แต่ความทรงจำคือศิลปินที่จะเลือกหยิบอะไรมาเป็นผลงานก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลใดๆ

Oct 21, 2015
37/2015 – ตื่น

เช้าวันนี้ มีน้องในทีมถามขึ้นมาลอยๆ ว่า

“ทำไงจะตื่นเช้า ไม่อยากตื่นสาย”

อาจเพราะอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เครดิตว่าเป็น”คนตื่นเช้า” มันก็มาโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อได้ยินคำถาม ก็เลยพยายามนึกคำตอบให้น้อง พร้อมๆ กับทบทวนตัวเองว่า

เราจะตื่นเช้าได้เพราะอะไร?

อยากคงอารมณ์เรียลๆ เลยขออนุญาต ถอดคำที่คุยกันมาเลย เพื่อให้ได้อรรถรสการสนทนา

ให้คิดว่า ตื่นมาเพื่อตัวเอง เป็นชั่วโมงพิเศษ ไม่ใช่แค่ตื่นมาเพื่องานอย่างเดียว งานแค่ต้องไปทำงานตรงเวลาและอยู่กับงานเต็มเวลา ก็เป็นความรับผิดชอบที่ดีแล้ว

ในช่วงที่เบื่องาน รึงานไม่ตื่นเต้น อย่าเบื่อชั่วโมงพิเศษของตัวเอง

มองมุมกลับ เมื่องานมันคาดเดาได้ มันก็ทำให้เรามีเวลามาเพิ่มเติมอะไรให้ตัวเอง ในเวลาที่งานมันท้าทายน้อยลง

ชั่วโมงพิเศษไม่จำเป็นต้องเยอะ ตื่นมาชงกาแฟอร่อยซักแก้ว รึอ่านหนังสือซักบท ทำอะไรที่เติมตัวเรา อย่าเพิ่งทำอะไรที่ทำได้ทั้งวัน เช่นเช็คเฟซบุ๊ค ดู YouTube อันนั้นทำได้ทั้งวัน

ใช้ครึ่ง หรือ 1 ชั่วโมงนั้น กับสิ่งที่เราอยากทำ ตัดฉับก็เดินออกมาทำงาน

เวลามันเป็นของเรา เราแบ่งสัดส่วนให้มันได้

ลองหาภารกิจที่มันคู่ขนานไปกับชีวิตการทำงาน เป็นตัวเติมให้เราอยากลุกขึ้นมาทำ เราไม่ต้องถึงขนาดหมดใจกับงานนะ แต่เราต้องให้ตัวเราเต็มก่อน มันก็จะส่งผลกับงานเอง อย่าให้งานมันลากอารมณ์เราไปหมด แบ่ง part ให้มัน

เวลาของเราที่เราพอจะหาได้ มันเป็นของเรานะ

ถ้างานมันทำให้แรงบันดาลใจขุ่นมัว แต่ตัวเราต้องไม่จมไปด้วย หาอะไรเติมตัวเองดู

หาเวลาให้ตัวเอง พอใจในเรื่องอื่นๆ คู่ขนานกับชีวิตการทำงานไปนะ

แล้วจะคลี่คลาย อย่างน้อยก็ใจเรา ตัวเรา

คนอื่นช่างแม่ง


Oct 22, 2015
วันนี้มีน้องในทีมส่ง YouTube เพลงมาให้ฟัง พร้อมข้อความว่า “คนนี้ทำเพลงดีพี่ แต่เป็นเพลงเกาหลี” เราก็คลิกฟัง เออ ถ้าไม่นับเรื่องภาษา เพลงที่น้องส่งมานี้มันก็เป็นเพลงอินดี้ ที่มีดนตรีดีๆ ถ้าอยู่บ้านเราก็ได้ลงใน happening ได้เห็นใน aday แล้วแหละ

บอกน้องไปว่า ขอบคุณที่แนะนำ นอกจากเพลงเพราะดีแล้ว มันยังเคาะกระโหลกคนอายุ 37 อย่างพี่ว่า ด้วยการรับรู้เชิงปฏิเสธที่มาพร้อมอายุที่เพิ่มขึ้น มันทำให้เราก็คิดเหมาไปแล้วว่า เกาหลีคงมีแต่เพลงที่ต้องเปิดไฟย้อนแสงแล้วก็เต้นกันเป็นกลุ่มๆ ทำให้ไม่เคยอยากรู้เลยว่า เกาหลีมีคนทำดนตรีดีๆ มั้ย ซึ่งแน่นอนมันมี

โชคดีที่เด็กรุ่นนี้ รุ่นน้องที่ส่งเพลงมาให้เราฟัง ยังมองโลกได้กว้าง ยังเปิดวิถีให้มีทางเลือก และที่สำคัญมีวิธี ที่จะรู้จักข้อมูลนั้นจริงๆ ด้วยการเป็นนักค้นหา เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีที่สืบค้นได้ทุกสิ่ง ซึ่งมันคือพลังแบบใหม่ ที่คนรุ่นผมไม่มี

พิมพ์บ่นตัวเองไปให้น้องฟังว่า

เออนะ ถ้ามองมุมนี้ โลกมันก็มีทางเลือกกันทุกประเทศนะ แต่พอพี่ตีความไปแล้วว่า เกาหลี ก็คือเกาหลี คงมีแต่เพลงเต้นๆ ที่เราไม่ชอบ เราก็เลยไม่มีโอกาสรู้ข้อมูลด้านอื่นของเพลงเกาหลีเลย

รึเพราะเราก็แคบอยู่กับตัวเอง จนเหมือนว่าโลกมันก็แคบไปกับเราด้วย ว่างๆ เลยชอบบ่นว่า “หมดหวังละกะโลกยุคนี้ ไม่มีอะไรเจ๋งเลย” แต่พอนึกอีกที รึว่า

จริงๆ เป็นเพราะมึงแก่เอง แคบเอง ไม่เลือกเอง

ความมั่นใจในอะไรเก่าๆ บางเรื่องมันก็ทำให้การเรียนรู้มันแคบลง เราไปปิดโอกาสรู้ทางเลือกใหม่ๆ ที่น้องๆ รุ่นนี้ อาจค้นเจอก่อนเรา และถ้าวันนี้เรายังใจแคบแบบนั้น

เราก็อาจจะทั้งแก่และเก่า

จนเราอาจจะอยากไล่ตัวเองไปเกษียนซะ

22 October 2015 / Bangkok

Dec 26, 2015
เมื่อมีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ แนวคิดปรัชญาทุกแขนง ก็อาจเป็นแค่เรื่องจอมปลอม
– Irrational Man

Mar 4, 2016

38/2016 — Death Cab for Cutie

ยิ่งได้ดู Live

ยิ่งเห็น Energy และการจัดวาง Space

ในเพลงของ Death Cab for Cutie

ที่ให้อะไรในใจ มากกว่าได้ฟังเพลง

การได้รู้จักวงนี้ที่ New York เมื่อ 10 ปีก่อนโดยไม่มีอิทธิพล การแนะนำจากสื่อไหน

หรือกระแสเพลงใดๆ มันเพิ่งมา

มีความหมายสมบูรณ์ขึ้น

เมื่อวานนี้ ที่ Bangkok 😉

Death Cab for Cutie

Live in Bangkok 2016


Nov 22, 2016
แค่รู้จักความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่การเติบโต
จังหวะชีวิตไม่มีการเปิดหน้าข้าม ทุกช่วงวัยมีความหมาย
การตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต ไม่จำเป็นต้องมาจากเหตุผล
สิ่งที่เรารับรู้และเข้าใจ บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องนำมาใช้
ถ้ามันยังไม่ใช่เวลาของมัน
-Liberal Arts (2012)

Jun 13, 2017
7 Thiefs #โจรเจ็ดวัน
Monday ตั้งใจจะไปวิ่งราวกระเป๋าของคนที่มี Organizer เล่มที่มีนัดเยอะๆ มาฉีกทิ้ง

May 25, 2018
“ความจริง” เป็นความครีเอทีฟขั้นสุด

+ Blog แรกที่เขียนอะไรสะเปะสะปะไว้มากมาย ตั้งแต่ปี 2003
http://jakksky.blogspot.com/



Notes to Myself

ซ่อมแซมได้เสมอ

“โซเคอิศิษย์รักสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตก็คือการใช้ชีวิต”คำสอนของโชจิโร่ก้องกังวานอยู่ในหัวของโซเคอิครั้งแล้วครั้งเล่า”โซเคอิเอยเจ้าจงใช้ชีวิตให้เต็มที่ ทำงานแต่ละชิ้นด้วยใจรักอย่างไร้จำกัดจงรู้ไว้ว่าถ้าชีวิตและชิ้นงานแตกหัก เจ้าสามารถนำมันกลับมาซ่อมแซมได้เสมอ”
.

  • จากบทแรกของ หนังสือ คินสึงิ
    ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต KINTSUGI – Embrace your imperfections and find happiness the Japanese way
    .
    ภายถ่ายที่เกียวโต เมื่อหลายปีก่อน
    📸 by Akarat Phuvapatchim
Notes to Myself

เวลาสุดท้าย

วันธรรมดา อ่อนล้าสุข เหมือนทุกวัน
ค่ำคืนไร้ลางบอก แว่วเสียงเสียงเชียร์บอลให้ได้รู้
เช้าตรู่ หยั่งรู้เวลา พ่อนิทรา นาทีสุดท้าย
พ่อเลือกจากไป เรียบง่าย มินิมอล
นอนสู่นิรันดร์

พ่อแสวง ใจคำ
1 มีนาคม 2562

แด่สหายรัก Jack Black

Notes to Myself

สมุดเบาใจ

จู่ๆ ก็นึกถึง”สมุดเบาใจ” ที่เคยได้ตอนไป Workshop เรื่อง Peaceful Dead รวมทั้งชุดสำหรับไพ่ไขชีวิตด้วย วันนี้เลยลองส่งหากดสั่งออนไลน์มา ซึ่งเซอร์สไพรซ์มากทีมีขาย เพราะจำได้ว่า เมื่อก่อนการจะใช้อุกรณ์เหล่านี้ต้องผ่านการ workshop ก่อน เพราะบางเนื้อหารระหว่างมี่เล่นการ์ดอาจมีความละเอียดอ่อนที่ต้องได้รับคำแนะนำ

สมุดเบาใจ อธิบายง่ายๆ มันคือพิธีกรรมฉบับ DIY ที่เจ้าตัวเขียนได้ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างสีที่ชอบ อาหารที่โปรด และขะเลยไปถึงสิ่งที่ห่วง สมบัติ สุขภาพ การจัดการ ที่ตัวเองอยากได้รับในวัยที่อาจขาดการตัดสินใจด้วยตัวเอง สมุดเบาใจ ใช้บรรเทาใจระหว่างผู่ป่วยและผู้ดูแล ที่จะหยิบเรื่องยากๆ มาคุยให้ได้คำตอบบนหน้ากระดาษ ที่จะกลายมาเป็นข้อตกระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล ต่อไป

ว่ากันว่าความวิเศษของสมุดเบาใจ คือถ้าได้เขียนออกมาทุกๆ เรื่องที่อยู่ในใจ จะเป็นตัวช่วยอย่างดีที่ทำให้ชีวิตที่ดำเนินต่อไปในแต่ละวันนั้น “เบา” เพราะการตัดสินใจยากๆ ในวันที่เราอาจไม่มีแรงพอจะพูด ไม่มีโอากาสจะทำอะไรให้ตัวเองได้ “สมุดเบาใจ” จะเป็นเหมือนกติกากลาง ข้อตกลงกลางที่ทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้ใช้เป็นสิ่งที่ทำร่วมกันได้อย่างสบายใจ

เพิ่งจะสั่งซื้อมา เดี๋ยวถ้าได้สมุดมาจะมารีวิวกันอีกที
ว่าสมุดเบาใจใช้งานอย่างไร ให้ใจ ได้ เบา ก่อนวันสุดท้ายของชีวิต

รูปแบบของสมุดเบาใจ หาซื้อมาทำกันดูได

ราคาเล่มละ 30 บาท สั่งซื้อทางออนไลน์ได้ https://peacefuldeath.co/product/baojai/
ตัวอย่างสมุดเบาใจ

สมุดเบาใจฉบับนี้เป็นเครื่องมือวางแผนสุขภาพล่วงหน้า และเป็นรูปแบบหนึ่งของเอกสารแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้าย และการตายดี หรือ Living will ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12

สมุดเบาใจเป็นเครื่องมือช่วยสํารวจความต้องการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เมื่อท่านเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต ทั้งยังช่วยวางแผนและสื่อสารความต้องการของท่านให้ครอบครัวและทีมสุขภาพได้รับรู้ พวกเขาจะได้ไม่ต้องเดาใจในกรณีที่ท่านประสบภาวะวิกฤตในช่วงสุดท้าย อีกทั้งยังช่วยลดข้อขัดแย้งในหมู่ญาติและทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาดูแลอีกด้วย

สมุดเบาใจจะให้ความรู้ในประเด็นการดูแลสุขภาพช่วงสุดท้ายและวางแผนการดูแลรักษาล่วงหน้า การดูแลความสุขสบาย การเลือกผู้แทนการตัดสินใจด้านสุขภาพ การจัดการร่างกายและงานศพ

เพียงทำเครื่องหมายถูกหน้าข้อความ หรือเติมคำในช่องว่าง จากนั้น ลงลายเซ็นกำกับในตอนท้ายของสมุด ก็จะได้เอกสารต้นฉบับ สำหรับสื่อสารเจตนาของท่าน เพื่อให้ท่านเบาใจไปเปราะหนึ่ง

ขนาด: 17.6 x 25 cm
ราคา 30 บาท

สั่งซื้อได้ที่ https://peacefuldeath.co/product/baojai/

Jakksky
Bangkok Thailand 1 Mar 22

Notes to Myself

11 ปี นี่นานแค่ไหน

ไปเจอรูปตัวเองเมื่อ 11 ปีที่แล้ว นับนิ้วดูก็รู้ได้ลยว่าตอนนั้นอายุ 33 ปี
ในภาพนั้นคือเด็กหนุ่มที่เพิ่งกลับจากนิวยอร์ก กลับมาพร้อมความมั่นใจ
ในการเลือกเส้นทางของชีวิต มาย้อนคิด 11 ปี ที่ผ่านเข้าไปในสาวยตาคู่นั้น
มันเป็นสายตาที่มั่นใจในวันนั้น วันในอีดตวันนั้น ว่าชีวิตที่ดำเนินอยู่มันคือความมั่นใจวันต่อวันปีต่อปีที่จะมีความรู้ว่าตัวเองจะเติบโตไป

แต่ความจริงหนอ สิ่งที่ชีวิต 11 ปีผ่านมา แทบไม่มีจังหวะชีวิตไหนอยู่ในพล็อต
ไม่มีเค้าโครงเลยว่าคนอายุ 33 ที่ยังเรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่ได้ไม่เต็มปาก
จะมองเห็นเส้นทางชีวิตแม้แต่รางๆ

ภาพวันนั้นถ่ายที่เรียวกัง 100 ปี ที่ฮาโกเน ด้วยสถาพนักเที่ยวที่เพื่งกลับจากนิวยอรร์ก
จำความรู้สึกได้เพียงรางๆ ว่าการเดินทางให้ความรู้ ให้โลกกว้าง ให้ความคิดฝัน เป็นไปได้

ถ้ามองดูตัวเองวันนี้ แทบเดาไม่ถูกเลยว่าจะเขียน map ยังไง ว่าทำไมชีวิตเดินทางมาไกล
ในทางที่คดเคี้ยวและลาดชันมานับไม่ถ้วน กว่าจะมายืนเป็นชีวิตแบบที่เป็นในทุกวันนี้

นึกบทสนทนาไม่ออกว่า ถ้าได้เดินย้อนเวลาไปคุยกับไอ้เด็กหนุ่มคนนี้ เราจะพูดกับมันว่าอะไร
เราจะอยากพูดเตือนไม่ให้มันยึดติดกับความคิดความฝันมากไป เพราะวันนีงจะทำให้เจ็บบวด
แบบที่คาดไม่ถึง หรือ อยากจะไปตัดทอนความหวังมันซะเลย ว่าสิ่งที่จะทำต่อในอีก 10 ปีข้างหน้า
มันมีเค้าลางของความล้มเหลวรออยู่……

แต่เอาละ ปล่อยแวตาคู่นั้นได้มีความหวังอยู่ในรูปนั้นเสมอไปดีกว่า
และถ้าสายตาที่มุ่งมั่นคู่นั้น มันก็จะทำหน้าเดิมของมัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

Jakksky
Bangkok Thailand 24 feb 2020

jakksky
23 feb 2554
hakonae japan

Notes to Myself

ชีวิตไม่เคยหยุดรอ

ในขณะที่พิมพ์บล็อคนี้ แทบไม่มีอะไรในหัว ไม่มีความคิด ความจำใดๆ ที่รู้สึกว่าอยากจะบันทึก เกือบจะปิดหน้าบล็อคไปแบบว่างเปล่า แต่ก็รู้สึกขึ้นมาได้ว่า ต่อให้เราไม่ได้คิดอะไร ชีวิตมันก็ยังไม่เคยว่างเปล่าเลย ชีวิตมันมีเช้าให้ต้องตื่น มีกลางวันให้หิว มีกลางคืนให้ล้มตัวนอน ถ้าชีวิตเป็นไดอารี่สักเล่มเอาจริงๆ สิ่งที่มันบันทึกอาจจะแทบจับใจความไม่ได้ ชีวิตมันเคลื่อนไหวไปโดยอาจไม่ต้องใช้ความคิดทุกครั้งไป

หรือจริงๆ แล้วชีวิตสำคัญกว่าความคิด ลมหายใจสำคัญกว่าสมอง เราไม่เคยได้ทุกอย่างมาตามที่เราคิด แต่ชีวิตเป็นไปได้ทุกอย่างก่อนเราจะคิดด้วยซ้ำ เราลืมตาเมื่อเราต้องตื่น เราลุกขึ้นเดินเมื่อเราหิว เราใช้ชีวิตไปตามสิ่งที่มีชีวิตต้องเป็นไป ไม่เสมอไปที่ความคิดจะกำหนดชีวิต แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถสร้างชีวิตขึ้นมาจากความคิดความเชื่อได้ แต่เราต้องลองเปิดโอกาสให้ชีวิตมันไร้ความคิดบ้างก็ไม่น่าจะผิดอะไร

ในหลายๆ วันของการมีชีวิตอยู่ จะมีบางวันที่ไร้ข้อสรุป ไร้ความเข้าใจ ไร้เป้าหมาย ไร้การบรรลุความคิดใดๆ ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นวันเช่นนั้นบ้าง เหมือนกับตัวอักษรในโพสต์นี้ ที่เรียบเรียงออกมาตามลมหายใจ ที่ไม่ได้กำหนดความหมายใดๆ ในบันทึกนี้

Jakksky
Bangkok, Thailand

Notes to Myself

ยังเหลือเรื่องดี

ประกาศหาคนรับต้นไม้ ซึ่งจะเรียกให้ถูกคือ “ต้นสนฉัตร” สูงเกือบ 10 เมตร เพื่อขนย้าย หาที่ปลูกใหม่ ในใจลุ้นว่าในวันที่บ้านของหลายๆ คนอยู่ในเมือง ไม่ค่อยมีที่ดินปลูกต้นไม้ใหญ่ ในวันที่การจะรับของอะรไถึงแม้ว่าให้ฟรี แต่มีภาระต้องจ่ายค่าขนย้าย ให้เวลามาจัดการ โปรเจ็คต์ย้ายต้นไม้ใหญ่ จะเป็นไปได้ไหม เราไม่อยากไปถึงขั้นการตัดหรือฟันทิ้ง ด้วยเหตุผลว่าไม่มีใครเอา หรือเป็นวิธีการที่ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า

เสียงทักมาจากรุ่นน้องที่ไม่ได้สนิทก้นนัก แต่เห็นประกาศใน facebook ว่าสนใจต้นไม้นี้ เห็นคุณค่า และอยากหาทางช่วยหาบ้านใหม่ให้มีที่ปลูก บทสนทนาร่มเย็นขึ้นทันที เมื่อสิ่งที่เรามอบต่อกัน เป็นการให้ชีวิต เป็นการช่วยชีวิต เป็นการดูแลชีวิตชีวิตนึง ชีวิตของต้นไม้ 1 ต้น

จำวันที่พาต้นไม้ต้นนี้มาที่บ้าน เดินทางมาอยู่ในช่วงเวลาแห่งความสุข มาก่อนวันคริสมาสตร์ ไม่มีกัน ต้นสนที่ถูกประดับไฟต้อนรับเทศกาลตั้งแต่วันแรกที่มาถึง และทำหน้าที่นั้นทุกๆ ปี ถ้าจำไม่ผิดปีนี้ก็เป็นปีที่ 4 แล้ว แต่ก็เป็นปีที่เงียบเหงาที่สุด ที่ต้นไม้ต้นนีงจะรู้สึกได้

การรับผิดชอบชีวิต คือเรื่องยิ่งใหญ่
การให้โอกาสชีวิตจึงยิ่งใหญ่กว่า

ความรู้สึกดีใจโล่งใจหายใจ แบบนี้ ไม่เคยรู้สึกมาก่อน
ทั้งๆ ที่การให้ของ ให้ทีวี โต๊ะ ตู้เย็น ก็เคยทำมาเยอะแล้ว
เพิ่งรู้สึกพิเศษแบบอธิบายไม่ถูกว่า การได้เห็นทาง

ที่ต้นสนต้นนี้ ได้มีชีวิตต่อไป
เป็นความสุขที่ไม่ต้องเทียบกับค่าใดๆ

Thank you and bye bye my SQ House Tree

jakksky
Bangkok, Thailand

Notes to Myself

พิธีการจากลา วันเวลาหมุนกลับ

มวลความเศร้าในการลาจากในงานศพ จะฟิวส์ชั่นกับพิธีการ ผู้คน ความสัมพันธ์ ที่ไม่น่าเชื่อว่ามันช่วยให้ความโศกเศร้าสูญเสียกลายเป็นการปรับใจยอมรับเข้าใจ ที่เกิดจากเรื่องง่ายๆ เลย แค่เรากลับมาพบกัน

ชีวิตก็มีเท่านี้ วลีเรียบง่ายที่เราได้ยินในหัวหลังจากวางดอกไม้จันทร์แล้วยกมือไหว้คนรักที่จากเราไป

แต่สำหรับคนที่อยู่

ชีวิตก็มีเท่านี้ ถ้าการงานในชีวิตไม่ติดขัด เรามีเวลามาพบหา พึ่งพา ตบบ่ากัน ในวันที่ต้องเปลี่ยนผ่านความสูญเสีย สู่วันใหม่ต่อไป

งานศพจึงเป็นห้วงเวลาสั้นๆ ที่มิตรภาพอันยาวนานของเพื่อน คนรัก ครอบครัว ได้หมุนวนกลับมาในรูปแบบของการช่วยเหลือกัน รักกัน กอดกัน มันเรียบง่ายแค่นั้น

บันทึกไว้ในวันที่เวลาในชีวิตมีจำกัด
แต่การจัดสรรหัวใจให้ได้พบกัน
เป็นเรื่องที่ยังพอทำได้

jakksky
10/12/20
Buriram City

เขียนด้วยความอาลัยถึงพ่อของเพื่อนรักของผม